วันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557

ความหมายของวรรณกรรม
                คำว่า "วรรณกรรม" มีความหมายตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Literature Works" หรือ "General Literature" และการใช้คำว่า "วรรณกรรม" มีปรากฏครั้งแรกในพระราชบัญญัติคุ้มครองศิลปะและวรรณกรรม พ.ศ. 2475 โดยให้คำนิยามคำว่า "วรรณกรรมและศิลปกรรม" รวมกันไว้ดังนี้

                วรรณกรรมและศิลปกรรม หมายความรวมว่าการทำขึ้นทุกชนิดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ แผนกศิลปะ จะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปร่างอย่างใดก็ตาม เช่น สมุด สมุดเล็ก และหนังสืออื่น ๆ เช่น ปาฐกถา กถาอื่น ๆ เทศนา หรือวรรณกรรมอื่น ๆ อันมีลักษณะเช่นเดียวกัน หรือนาฏกียกรรม หรือนาฏกีย-ดนตรีกรรม หรือแบบฟ้อนรำและการเล่นแสดงให้คนดูโดยวิธีใบ้ ซึ่งการแสดงนั้นได้กำหนดไว้เป็นหนังสือ หรืออย่างอื่น ๆ …"
                คำว่า "วรรณกรรม" ก็ได้นิยมใช้กันแพร่หลายมาตามลำดับ และสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จัดตั้งสำนักงานวัฒนธรรมทางวรรณกรรมรวมอยู่ในกระทรวงวัฒนธรรมแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2485 มีหน้าที่เผยแพร่วรรณกรรมและส่งเสริมศิลปะการแต่งหนังสือ เพื่อรักษาวัฒนธรรมไทยอย่างเป็นทางราชการสืบต่อจากวรรณคดีสโมสร ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 (ธวัช ปุณโณทก. 2527 : 1)
                กุหลาบ มัลลิกะมาส (2517 :7) กล่าวว่า คำว่า "วรรณกรรม" มาจากการสร้างศัพท์ใหม่ แทนคำว่า "Literature" โดยวิธีสมาส หรือรวมคำ จากคำว่า วรรณ หรือ บรรณ ซึ่งหมายถึงใบไม้ หรือ หนังสือ รวมกับคำว่า กรรม ซึ่งหมายถึงการกระทำ ดังนั้นวรรณกรรม จึงหมายถึง การกระทำที่เกี่ยวกับหนังสือ โดยความหมายของวรรณกรรม หมายถึง สิ่งซึ่งเขียนขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปใด หรือเพื่อความมุ่งหมายใด ซึ่งอาจจะเป็นใบปลิวหนังสือพิมพ์ นวนิยาย คำอธิบาย ฉลากยา เป็นต้นก็ได้
                พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 (2539 : 754) อธิบายว่า วรรณกรรม หมายถึง งานหนังสือ งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด ไม่ว่าแสดงออกมาโดยวิธีหรือในรูปอย่างใด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ สิ่งบันทึกเสียง ภาพ
ส่วน ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ และเจตนา นาควัชระ (2520 : 58) ได้ให้ความหมายของวรรณกรรมว่า หมายถึง หนังสือ หรือเอกสาร ที่มีศิลปกรรมในฐานะที่มีรูปแบบ มีสาระเนื้อหาที่ผู้เขียนพยายามสื่อความคิดด้วยวิธีการหนึ่งมายังผู้อ่าน
                สิทธา พินิจภูวดล และคณะ (2515 : 35) กล่าวว่า วรรณกรรม หมายถึงงานเขียนในรูปบทกวีนิพนธ์ ร้อยกรอง และข้อเขียนทั้งหมดที่ใช้ภาษาร้อยแก้ว ได้แก่ บทความ สารคดี นวนิยาย เรื้องสั้น เรียงความ บทละคร บทภาพยนตร์ บทโทรทัศน์ ตลอดจนคอลัมน์ต่าง ๆ ในหนังสือพิมพ์
                พระยาอนุมานราชธน หรือ เสฐียรโกเศศ (2515 : 24) ได้กล่าวว่า วรรณกรรมหมายถึงการกระทำหนังสือหรือหนังสือที่แต่งขึ้นทั่วไปโดยมิได้จำกัดว่าเป็นหนังสือพวกใดพวกหนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนจะมีคุณค่ามากน้อยเพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
                สมพร มันตะสูตร (2525 : 10-11) อธิบายว่า วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนทุกชนิด ทุกชิ้นที่สามารถสื่อสารได้น่าจะเป็นวรรณกรรม ซึ่งหมายความว่า เมื่อผู้แต่งส่งสารไปยังผู้รับ ผู้รับสามารถสื่อความเข้าใจจากสารที่ผู้แต่งส่งมาได้ ก็ถือว่ามีการสื่อสารกันขึ้นแล้วงานเขียนนั้นนับว่าเป็นวรรณกรรม
                ส่วนโจเซฟ เมอร์แซนต์ (Mersand 1973 : 313) กล่าวว่า คำจำกัดความง่าย ๆ ของวรรณกรรมก็คือ การเขียนทั้งในรูปแบบร้อยแก้วและร้อยกรอง ซึ่งถ้าพิจารณาคำจำกัดความนี้ตามหลักการแล้วบทกวีที่เขียนขึ้นเป็นครั้งแรก หรือ รายการสั่งซื้อสินค้าทางจดหมายก็เรียกว่าวรรณกรรมด้วยเช่นกัน ดังนั้นเพื่อให้ความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น วรรณกรรมจะต้องเป็นรูปแบบการเขียนที่ดี มีประเด็นน่าวิจารณ์และมีความคิดที่น่าสนใจเป็นอันดับสุดท้าย
                ทัศนะต่าง ๆ ที่มีผู้ให้คำจำกัดความตามที่กล่าวมา มีความสอดคล้องกับความหมายของวรรณกรรมที่ให้ไว้ในการสัมมนาของชุมนุมวรรณศิลป์ 6 สถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยการค้า เมื่อปี พ.ศ. 2518 ว่า วรรณกรรมคืองานสร้างสรรค์ทางศิลปะที่ใช้ภาษาเป็นสื่อกลางไม่ว่าจะมีเนื้อหาแบบใดก็ตาม มีขอบเขตถึงงานเขียนทุกชนิด เช่น วรรณคดี นวนิยาย เรื้องสั้น บทความ รวมถึงวรรณกรรมที่เล่าสืบต่อกันมาด้วยปาก เช่น นิยายพื้นบ้าน บทเพลงต่าง ๆ เป็นต้น (อ้างถึงใน วรรณี ชาลี. 2522 : 4)
                อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ให้ความหมายของวรรณกรรมที่แตกต่างออกไป มิใช่จำกัดอยู่แต่เฉพาะงานเขียนทั่ว ๆ ไป เช่น
                เอมอร ชิตตะโสภณ (2521 : 11-12,21) อธิบายว่า วรรณกรรม หมายถึงข้อเขียนต่าง ๆ ที่ทำขึ้นด้วยความปราณีต แต่ยังไม่ได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณคดี ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกาลเวลาหนึ่ง ยังไม่มีหน่วยงานใดที่มีหน้าที่พิจารณาหนึ่ง และ ฯลฯ พร้อมกับชี้ประเด็นว่าหากจะพิจารณาว่า วรรณกรรม คืองานเขียนทั่ว ๆ ไปแล้วไซร้ ทุกอย่างที่เป็นงานเขียน เช่น พงศาวดาร ตัวบทกฎหมาย พระราชกฤษฎีกา ประกาศต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งจดหมายรัก ก็จะกลายเป็นวรรณกรรมไปหมด เราควรคำนึงถึงความจริงข้อที่ว่า วรรณกรรมในภาษาอังกฤษก็มี "Literature" ปนอยู่ด้วย ฉะนั้น วรรณกรรมไม่ควรจะเป็นเพียงงานเขียนเฉย ๆ แต่ควรจะเป็นงานที่มีศิลปะปนอยู่ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ วรรณกรรมชิ้นใดก็ตามควรจะเกิดมาจากความตั้งใจของผู้เขียนในอันที่จะถ่ายทอดความรู้สึกหรือทัศนะของเขาออกมาเป็นตัวอักษรอย่างมีศิลปะ ไม่ว่าจะจากประสบการณ์หรือแรงบันดาลใจ หรืออารมณ์สะเทือนใจก็ตาม
                สมพร มันตะสูตร (2524 : 5) อธิบายเพิ่มเติมจากคำจำกัดความที่ได้กล่าวมาแล้วว่า วรรณกรรม หมายถึงงานเขียนที่เกิดขึ้นจากอารมณ์สะเทือนใจ และมีศิลปะในการนำเสนอทั้งในด้านความรู้ ความคิด ความสะเทือนใจด้วย การถ่ายทอดเป็นภาษาทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ไม่จำกัดรูปแบบและเนื้อหา วรรณกรรมนั้นมีความดีเด่น ให้ความประทับใจ
                หรือเสถียร จันท์มาธร (2516 : 8) อธิบายว่าวรรณกรรม คือผลิตผลที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนถ่ายความจัดเจนที่ได้รับจากการต่อสู้ของชีวิต ทั้งในทางธรรมชาติและทางสังคม เป็นการสร้างวัฒนธรรมทางศิลปะ รับใช้ผลประโยชน์ของกลุ่มความคิดที่ตนสังกัดอยู่
                อย่างไรก็ตาม ความหมายของวรรณกรรมที่มีผู้ให้ไว้หลากหลายนี้ ตามความหมายของหนังสือความรู้ทั่วไปทางวรรณกรรมนั้นจะมีความหมายกว้าง โดยกินความครอบคลุมงานหนังสือทุกชนิดหรือสิ่งพิมพ์ทุกประเภท ทั้งหนังสือทั่วไป หนังสือตำรา หนังสืออ้างอิง วารสาร นิตยสาร และเอกสาร ต่างๆ เป็นต้น

ประเภทของวรรณกรรม
                เนื่องจาก วรรณคดี เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรม ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แม้จะมีความแตกต่างบ้างก็ตาม แต่เมื่อกล่าวถึงประเภทของวรรณกรรม ก็จะกล่าวถึง ประเภทของวรรณคดีด้วยเช่นกัน ซึ่งได้มีผู้เขียนได้แบ่งประเภท ตามเกณฑ์และลักษณะต่าง ๆ มากมาย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1.) แบ่งตามลักษณะการประพันธ์ มี 2 ประเภท คือ
                1. วรรณกรรมร้อยแก้ว คือ วรรณกรรมที่ไม่กำหนดบังคับคำหรือฉันทลักษณ์ เป็นความ
เรียงทั่ว ไป การเขียนในลักษณะนี้ยังแบ่งย่อยออกเป็น
                                1.1 บันเทิงคดี (Fiction) คือ วรรณกรรมที่มุ่งให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นประการสำคัญ และให้ข้อคิด คตินิยม หรือ สอนใจ แก่ผู้อ่านเป็นวัตถุประสงค์รอง ดังที่ ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ (2518 : 9) กล่าวว่า บันเทิงคดี เป็นวรรณกรรมที่ผู้ประพันธ์มีจุดประสงค์ที่ให้ความเพลิดเพลิน แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าบันเทิงคดีเป็นวรรณกรรมที่ไร้สาระ บันเทิงคดีอาจมีสาระในด้านปรัชญา ด้านความเข้าใจการเมือง หรือประวัติศาสตร์ดีกว่าหนังสือสารคดีบางเรื่องก็ได้ วรรณกรรม ประเภทนี้ผู้ประพันธ์มุ่งหมายให้ความบันเทิง ต้องกระทบอารมณ์ผู้อ่าน มิใช่สำหรับให้ผู้อ่านได้ความรู้หรือความคิดเห็น บันเทิงคดีสามารถจำแนกย่อยได้ดังนี้
                                                1.1.1 นวนิยาย (Novel) คือ การเขียนผูกเรื่องราวของชีวิตอันมีพฤติกรรมร่วมกัน มีความสัมพันธ์กัน ในลักษณะจำลองสภาพชีวิตของสังคมส่วนหนึ่งส่วนใด โดยมีความมุ่งหมายให้ความบันเทิงใจแก่ผู้อ่าน คือให้ผู้อ่านเกิดสะเทือนอารมณ์ไปกับเนื้อเรื่องอย่างมีศิลปะ
1.1.2 เรื่องสั้น (Short Story) คือ การเขียนเรื่องจำลองสภาพชีวิตในช่วงสั้น คือมุมหนึ่งของชีวิต หรือเหตุการณ์หนึ่ง หรือช่วงระยะหนึ่งของชีวิต เพื่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจผู้อ่าน หรือ นิยามอีกอย่างหนึ่ง ว่า เรื่องสั้น คือ วิกฤตการณ์ชุดหนึ่ง มีความสัมพันธ์สืบเนื่องกัน และนำไปสู่จุดยอดหนึ่ง (Climax) ( ธวัช บุณโณทก 2537 : 12)
                                                1.1.3 บทละคร (Drama) คือการเขียนที่ใช้ประกอบการแสดงเพื่อให้เกิดความบันเทิง เช่น บทละครวิทยุ บทละครพูด และบทละครโทรทัศน์ เป็นต้น
                                1.2 สารคดี (Non-Fiction) คือ วรรณกรรมที่มุ่งให้ความรู้ หรือ ความคิด เป็นคุณประโยชน์สำคัญ อาจจะเขียนเชิงอธิบายเชิงวิจารณ์ เชิงพรรณนาสั่งสอน โดยอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างมีระบบมีศิลปะในการถ่ายทอดความรู้ เพื่อมุ่งตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นให้แก่ผู้อ่าน และก่อให้เกิดคุณค่าทางปัญญาแก่ผู้อ่าน ซึ่ง ธวัช ปุณโณทก ( 2527 : 11 ) ได้แบ่งย่อยดังนี้
                                                1.2.1 ความเรียง (Essay) คือ การถ่ายทอดความรู้ อาจจะได้มาจากการประสบ หรือตำราวิชาการ มาเป็นถ้อยความตามลำดับขั้นตอนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตามความรู้ ความคิดที่ผู้เขียนเสนอมา บางครั้งมีผู้เรียกว่า "สารคดีวิชาการ"
                                                1.2.2 บทความ ( Article) คือความคิดเห็นของผู้เขียนต่อเรื่องราวที่ประสบมาหรือต่อข้อเขียนของผู้อื่น หรือต่อเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ในการเขียนบทความผู้เขียนมุ่งที่จะบอกถึงความเห็น ความรู้สึกนึกคิดมากกว่าที่จะถ่ายถอดความรู้เหมือนความเรียง
                                                1.2.3. สารคดีท่องเที่ยว ( Travelogue) คือ การบันทึกการท่องเที่ยวและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ประสบพบเห็นขณะที่ท่องเที่ยวไป โดยมุ่งที่จะให้ความรู้แก่ผู้อ่านและให้ความเพลิดเพลินด้วย
                                                1.2.4. สารคดีชีวประวัติ (Biography) คือ การบันทึกพฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคลิกภาพหนึ่งมุ่งที่จะให้เห็นสภาพชีวิตประสบการณ์ของบุคลิกภาพนั้นทุกแง่ทุกมุม แต่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ และนิยาย
                                                1.2.5. อนุทิน (Diary) คือการบันทึกประจำวันที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง จะเป็นการบันทึกความรู้สึกนึกคิดของตนเองในประจำวัน หรืออาจจะบันทึกประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือบันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเตือนความจำ
                                                1.2.6. จดหมายเหตุ ( Archive) คือ การบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของทางราชการ หรือบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของสถาบัน หน่วยงานหรือตระกูล โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานเชิงประวัติเหตุการณ์ของชาติ หรือของสถาบัน หรือหน่วยงานราชการ หรือของตระกูล
                2. วรรณกรรม ร้อยกรอง คือ วรรณกรรมที่การเขียนมีการบังคับรูปแบบด้วยฉันทลักษณ์ต่างๆ เช่น บังคับคณะ บังคับคำ และแบบแผนการส่งสัมผัสต่าง ๆ บางครั้งเรียกงานเขียนประเภทนี้ว่า กวีนิพนธ์ หรือ คำประพันธ์ เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ลิลิต เป็นต้น นอกจากนี้วรรณกรรมร้อยกรองยังแบ่งเป็นชนิดย่อย ๆ ดังนี้
                                2.1 วรรณกรรมประเภทบรรยาย (Narrative) คือ วรรณกรรมร้อยกรองที่มีโครงเรื่อง ตัวละคร และเหตุการณ์ต่าง ๆ ผูกเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันไป เช่น ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี อิเหนา เป็นต้น
                                2.2. วรรณกรรมประเภทพรรณา หรือ รำพึงรำพัน ( Descriptive or Lyrical) มักเป็นบทร้อยกรองที่ผู้แต่งมุ่งแสดงอารมณ์ส่วนตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีโครงเรื่อง เช่น นิราศ และเพลงยาว เป็นต้น (ประทีป เหมือนนิล . 2519 : 22-23.)
                                2.3. วรรณกรรมประเภทบทละคร (Dramatic) เป็นบทร้อยกรองสำหรับการอ่านและใช้เป็นบทสำหรับการแสดงด้วย เช่น บทพากย์โขน บทละครร้อง บทละครรำ เป็นต้น
2) แบ่งตาม ลักษณะเนื้อเรื่อง มี 2 ประเภท คือ
                1. วรรณกรรมบริสุทธิ์ (Pure Literature) หมายถึง วรรณกรรมที่แต่งขึ้นจากอารมณ์สะเทือนใจต่าง ๆ ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะให้วรรณกรรมนั้น ทรงคุณค่าในทางใดเป็นพิเศษ แต่วรรณกรรมนั้นอาจจะล้ำค่า ในสายตาของนักอ่านรุ่นหลังๆ ก็เป็นได้ แต่มิได้เป็นเจตจำนงแท้จริงของผู้แต่ง ผู้แต่งเพียงแต่จะแต่งขึ้นตามความปรารถนาในอารมณ์ของตนเองเป็นสำคัญ
                2. วรรณกรรมประยุกต์ (Applied Literature) หมายถึงวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยมีเจตจำนงที่สนองสิ่งใดสิ่งหนึ่งอาจเกิดความบันดาลใจที่จะสืบทอดเรื่องราวความชื่นชมในวีรกรรมของผู้ใดผู้หนึ่งนั่นหมายถึงว่า มีเจตนาจะเขียนเรื่องราวขึ้นเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง หรือมีจุดมุ่งหมายในการเขียนชัดเจน มิใช่เพื่อสนองอารมณ์อย่างเดียว เช่น วรรณกรรมประวัติศาสตร์ วรรณกรรมการละคร และอาจหมายรวมถึงพงศาวดารต่าง ๆ ด้วย (สมพร มันตะสูตร 2526 : 6)
3) แบ่งตามลักษณะการถ่ายทอด มี 2 ประเภท คือ
                1. วรรณกรรมมุขปาฐะ หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการบอก การเล่า และการขับร้อง ไม่ว่าจะเป็นในโอกาสหรือในวาระใด เช่น ในการนอน การเต้น การรำ หรือพิธีกรรมต่าง ๆ
วรรณกรรมมุขปาฐะมีปรากฏมานาน จึงมีอยู่ทุกภูมิภาคของโลก การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวรรณกรรมประเภทนี้เป็นผลสืบเนื่องจากภาษาของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีภาษาพูดก็ย่อมมีโอกาสถ่ายทอดจิตนาการและอารมณ์ได้มากขึ้น ประกอบกับภาษาพูดสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและเร็วกว่าภาษาเขียน ดังนั้นวรรณกรรมมุขปาฐะจึงมีมาก และมีมานานกว่าวรรณกรรมประเภทอื่น
                2. วรรณกรรมลายลักษณ์ หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการเขียน การจาร และการจารึก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำลงบนวัสดุใด ๆ เช่น กระดาษ เยื่อไม้ ใบไม้ แผ่นดินเผา หรือ ศิลา
วรรณกรรมลายลักษณ์เป็นวรรณกรรมที่พัฒนาสืบต่อมาจากวรรณกรรมมุขปาฐะ กล่าวคือ เกิดขึ้นในยุคที่มนุษย์เริ่มรู้จักใช้สัญลักษณ์หรือตัวอักษร เพื่อบันทึกความในใจ ความรู้สึก และความคิดเห็นของตน เพื่อถ่ายทอกให้ผู้อื่นรับรู้นั่นเอง และเนื่องจากตัวอักษรเป็นเครื่องมือบันทึกที่สื่อสารกันได้กว้างไกลและยั่งยืน มนุษย์จึงสร้างวรรณกรรมประเภทนี้กันอย่างกว้างขว้างในทุกภูมิภาคของโลกขณะเดียวกันก็พัฒนาเทคนิคและรูปแบบการสร้างวรรณกรรมให้เจริญมาเป็นลำดับ วรรณกรรมลายลักษณ์จึงกลายเป็นมรดกที่มนุษยชาติไม่อาจปฏิเสธได้ (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. 2525 : 25)
4) แบ่งตามลักษณะของเนื้อหา (ซึ่งจะเน้นไปทางด้านวรรณคดีไทยเป็นส่วนใหญ่) มี 7 ประเภท คือ
                1. วรรณคดีนิราศ วรรณคดีประเภทนี้มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นการเขียนในทำนองบันทึกการเดินทาง การพลัดพราก การคร่ำครวญเมื่อต้องไกลที่อยู่อาศัย คนรักหรือสิ่งรัก การเขียนในเชิงนิราศนี้มีรูปแบบโดยเฉพาะ เป็นวรรณคดีที่กวีนิยมเขียนกันมาก มีวรรณคดีมากมายหลายเรื่อง เช่น กำสรวลศรีปราชญ์ ทวาทศมาส นิราศของสุนทรภู่ นิราศของพระยาตรัง นิราศนรินทร์ เป็นต้น
                2. วรรณคดีเฉลิมพระเกียรติ เป็นวรรณคดีในเชิงประวัติศาสตร์การบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินในทำนองสรรเสริญพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ วรรณคดี ประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีเป็นจำนวนมากมาย เช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตตะเลงพ่าย เพลงยาวเฉลิมพระเกียติร และโคลงเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีประเภทที่ต้องการบันทึกเรื่องราวสำคัญบางประการ เช่น โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ เป็นต้น
                3. วรรณคดีศาสนา วรรณคดีประเภทนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม คือ มีอิทธิพลมาจากความเชื่อทางศาสนา เช่น มหาชาติฉบับต่าง ๆ พระปฐมสมโพธิกถา ไตรภูมิพระร่วง ไตรภูมิฉบับต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีจากชาดก ทั้งนิบาตชาดกและปัญญาสชาดก นันโทปทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง เป็นต้น
                4. วรรณคดีที่เกี่ยวกับพิธีการขนบธรรมเนียมประเพณี เนื้อหาของวรรณคดีประเภทนี้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี หรือ พิธีการต่าง ๆ เช่น ตำรานางนพมาศ พระราชพิธีสิบสองเดือน ฯลฯ
                5. วรรณคดีสุภาษิต วรรณคดีประเภทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำสอน ข้อเตือนใจ เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สุภาษิตพระร่วง โคลงราชสวัสดิ์ อิศรญาณภาษิต เป็นต้น
                6. วรรณคดีการละครหรือนาฏวรรณคดี วรรณคดีประเภทนี้นำไปใช้แสดงละคร หรือการแสดงทางนาฏศิลป์ในลักษณะอื่น เช่น เรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ สังข์ทอง ไกรทอง เป็นต้น
                7. วรรณคดีนิยาย วรรณคดีประเภทนี้ถ้าเขียนเป็นการประพันธ์ประเภทกลอนจะเรียกว่ากลอนประโลมโลกย์ วรรณคดีนิยายนี้มีทั้งไม่เขียนเป็นกลอน เช่น ลิลิตพระลอ และที่เขียนเป็นกลอน เช่น พระอภัยมณี เสภาขุนช้าง - ขุนแผน เป็นต้น
5) แบ่งตามบ่งเกิดหรือที่มาของวรรณกรรม มี 6 ประเภท คือ
                1. วรรณกรรมอันเกิดจากการบอกเล่า หมายถึง วรรณกรรมที่บันทึกหรือถ่ายทอดจากผู้รู้ ผู้คงแก่เรียน หรือนักปราชญ์แต่ละสาขาของความรู้ วรรณกรรมจากบุคคลเหล่านี้จึงเป็นวรรณกรรมที่เรียกกันว่า "ตำรา" วรรณกรรมประเภทนี้อาจจะสมบูรณ์ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องทั้งหมดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือและการพิสูจน์ โดยกรรมวิธีต่าง ๆ แต่โดยทั่วไปก็มักเชื่อโดยอนุโลมว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือได้
                2. วรรณกรรมอันเกิดจากญาณทัศน์ หมายถึงวรรณกรรมที่เกิดจาการหยั่งรู้โดยญาณ ซึ่งหมายถึง ปัญญา การหยั่งรู้ อาจจะเกิดจากการครุ่นคิด ไตร่ตรอง เพื่อหาคำตอบ เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อให้พ้นสงสัย แล้วจู่ ๆ ก็เกิดความรู้ในเรื่องนั้นผุดขึ้นในความคิดและได้คำตอบโดยไม่คาดฝัน จากคำตอบนั้นจึงได้นำมาบันทึกเป็นวรรณกรรม เราเรียกวรรณกรรมนี้ว่า วรรณกรรมอันเกิดจากญาณทัศน์
ในบางกรณีเมื่อมีแรงดลใจหรือจินตนาการบางอย่าง ก็อาจเกิดการหยั่งรู้ขึ้น ความรู้ที่เกิดจากญาณทัศน์นี้ นับเป็นจุดกำเนิดจองความรู้เชิงปรัชญา และพัฒนาไปเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์บ้าง สังคมศาสตร์บ้าง และศิลปกรรมบ้าง จนในที่สุดที่กลายเป็นวรรณกรรมในสาขาวิชาต่าง ๆ ไป เช่น วรรณกรรมวิทยาศาสตร์ วรรณกรรมสังคมศาสตร์ เป็นต้น
                3. วรรณกรรมอันเกิดจากเหตุผล หมายถึง วรรณกรรมที่เกิดจากการให้หลักของเหตุผล ซึ่งเป็นวิธีการทางตรรกวิทยา วรรณกรรมประเภทนี้เป็นบันทึกความรู้ที่เกิดจากการอ้างอิงความเป็นจริง หรือความรู้ที่มีอยู่แล้ว เพื่อนำไปสู่ความรู้ใหม่ วรรณกรรมทางคณิตศาสตร์นับเป็นวรรณกรรมที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้โดยแท้จริง
                4. วรรณกรรมอันเกิดจากคัมภีร์ หมายถึง วรรณกรรมที่เกิดจากความเชื่อหรือวรรณกรรมที่บันทึกความเชื่อของมนุษย์ วรรณกรรมดังกล่าวนี้มีมูลฐานมาจากความเชื่อที่ว่าเป็นควาามรู้ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้แก่ศาสดา เพื่อนำไปเผยแพร่แก่มวลมนุษย์ ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ที่ประมวลไว้ในคัมภีร์ทางศาสนา เช่น คัมภีร์พระไตรปิฏกของศาสนาพุทธ คัมภีร์อุปนิษัท และภควัทคีตาของศาสนาฮินดู คัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ และคัมภีร์อัลกรุอานของศาสนาอิสลาม เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่าศาสนาสำคัญ ๆ ของโลก มักจะมีคัมภีร์เป็นแหล่งประมวลคำสอนของศาสนา โดยถือว่าเป็นพระวัจนะของศาสดา วรรณกรรมประเภทนี้จึงได้รับการยอมรับจากศาสนิกชน หรือผู้นับถือศาสนานั้น ๆ ว่าเป็นวรรณกรรมอันเป็นสัจธรรม หรือความจริงอันแท้
                5. วรรณกรรมอันเกิดจากการประจักษ์ หมายถึง วรรณกรรมที่บันทึกความรู้มาจากวิธีวิทยาศาสตร์ การสังเกต การทดลอง การพิสูจน์ความจริง โดยการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และแปลความหมายของข้อมูล
วรรณกรรมประเภทนี้นับเป็นรากฐานของวิชาการวิจัยในยุคปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันวงการศึกษา และอาชีพทั้งหลาย ต่างนำเอาวิธีการวิจัยเข้าไปใช้ในการพัฒนางานของตนอย่างกว้างขวาง จึงนับเป็นวรรณกรรมที่ได้รับการยอมรับสูงที่สุดในปัจจุบัน
                6. วรรณกรรมอันเกิดจากวรรณศิลป์ หมายถึงวรรณกรรมที่เกิดจากศิลปะการประพันธ์ โดยมีสุนทรียภาพ จินตนาการ และสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยการผลิต
สิ่งเร้าที่สะท้อนเข้าสู่จิตนั้นมีหลายอย่างสุดแท้แต่ว่าบุคคลอยู่ในสภาพแวดล้อมใดสิ่งเร้าที่นับว่ามีอิทธิพล และเป็นปัจจัยในการสร้างวรรณกรรมมาก ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติ ศาสนา และความเชื่อ เป็นต้น (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ 2525 : 25-27)
6) แบ่งตามคุณค่าที่มุ่งให้กับผู้อ่าน มี 3 ประเภท คือ
                1. วรรณกรรมที่ให้ความรู้หรือความคิด เช่น สารคดี รายงาน ตำรา พระราชพิธีพงศาวดาร
                2. วรรณกรรมมุ่งให้ความเพลิดเพลิน เช่น บทละคร นิทาน นิยาย เรื่องสั้น
                3. วรรณกรรมที่มุ่งผสมผสานความรู้ เช่น ความคิด และความบันเทิงเข้าด้วยกัน ผลงานนี้อาจอยู่ในวรรณคดีประเภทต่าง ๆ ได้ (วิภา กงกะนันทน์ 2523 : 32-34)
สำหรับ ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ (2525 : 28) แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้คือ
                1. วรรณกรรมเชิงวิชาการ หมายถึงวรรณกรรมที่มีจุดประสงค์หรือมีพันธกิจหลัก คือการให้ความรู้ความคิด อันได้จากการบอกเล่า จากญาณทัศน์ จากเหตุผล จากคัมภีร์ และจากการประจักษ์ วรรณกรรมประเภทนี้มุ่งเสนอเนื้อหาแก่ผู้อ่านเป็นสำคัญและไม่สู้จะให้ความสำคัญในเรื่องรูปแบบเทคนิค และกลวิธีการประพันธ์มากนัก กล่าวโดยสรุปก็คือเป็นวรรณกรรมที่มุ่งให้ความรู้เชิงวิชาการนั่นเอง
                2. วรรณกรรมเชิงวรรณศิลป์ หมายถึงวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยเน้นรูปแบบ เทคนิค และกลวิธีการประพันธ์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเนื้อเรื่อง แต่การเสนอความรู้ความคิดนั้น ไม่เน้นในเรื่องข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงเท่ากับความบันเทิง และสุนทรียภาพ กล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นวรรณกรรมที่มุ่งให้ความบันเทิงและสุนทรียภาพนั่นเอง  

ความสำคัญและคุณค่าของวรรณกรรม
                วรรณกรรมมิใช่เป็นแต่เพียงสื่ออย่างเดียว หากสิ่งที่แฝงลึกลงไปในช่องไฟระหว่างตัวอักษร ยังสะท้อนให้เห็นถึงความตื้นลึกหนาบางทางภูมิปัญญาของผู้เขียน และลึกลงไปในภูมิปัญญานั้นก็คือความจริงใจที่ผู้เขียนสะท้อนต่อตัวเองและต่อผู้อ่าน (พิทยา ว่องกุล. 2540 : 1) วรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ชาติที่เจริญแล้วทุกชาติจะต้องมีวรรณกรรมเป็นของตัวเอง และวรรณกรรมจะมีมากหรือน้อย ดีหรือเลว ก็แล้วแต่ความเจริญงอกงามแห่งจิตใจของชนในชาตินั้น ๆ วรรณกรรมเป็นเครื่องชี้ให้รู้ว่า ชาติใดมีความเจริญทางวัฒนธรรมสูงแค่ไหนและยุคใดมีความเจริญสูงสุด ยุคใดมีความเสื่อมทรามลง เพราะฉะนั้นวรรณกรรมแต่ละชาติ จึงเป็นเครื่องชี้วัดได้ว่า ยุคใดจิตใจของประชาชนในชาติ มีความเจริญหรือเสื่อมอย่างไร
                ด้วยเหตุนี้ วรรณกรรมจึงเป็นเครื่องมือสื่อสารความรู้สึกนึกคิดถ่ายทอดจิตนาการและแสดงออกซึ่งศิลปะอันประณีตงดงาม การศึกษาหรืออ่านวรรณกรรมแต่ละเรื่องทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพสังคม วัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ ของยุคสมัยที่ผู้ประพันธ์ได้สะท้อนผ่านมุมมองของตนออกมา รวมทั้งทำให้ผู้อ่านเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีต่อสภาพการณ์เหล่านั้นด้วย
ดังนั้นวรรณกรรมจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์แทบทุกด้านอาจกล่าวได้ว่า สังคมมนุษย์ที่เจริญมีอารยธรรม และเทคโนโลยีในปัจจุบันนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวรรณกรรมทั้งสิ้น วรรณกรรมต่างมี
บทบาท ความสำคัญ และอิทธิพลไม่มากก็น้อย ซึ่งคุณค่าเหล่านี้ได้มีผู้แสดงความคิดเห็นไว้หลากหลาย ดังนี้
เอร์มเชอร์ (Irmscher 1975 : 6-7 อ้างถึงในสิทธา พินิจภูวดล และนิตยา กาญจนะวรรณ. 2520 : 7-8) ได้กล่าวถึงอิทธิพลของวรรณกรรมที่มีต่อมนุษย์ดังนี้
                1. จากตัวละครที่ปรากฏในวรรณกรรม ได้เปิดเผยให้ผู้อ่านเห็นความคิดจิตใจของมนุษย์ด้วยกัน ทั้งที่เหมือนกับคนทั่ว ๆ ไป และทั้งที่แตกต่างและมีปฏิกิริยาต่อคนอื่น
                2. จากการสร้างพฤติการณ์และสถานการณ์ในวรรณกรรม ทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ว่า พฤติกรรมของคน ๆ หนึ่งย่อมเกี่ยวโยงไปถึงคนอื่น ๆ ด้วย บางครั้งพฤติกรรมของคนเพียงคนเดียว ก็มีพลังอำนาจผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ที่เหลือวิสัยที่จะควบคุมได้ มีผลต่อตนเองและคนอื่น ๆ อีกหลายคน ซึ่งใคร ๆ ก็ควบคุมสถานการณ์ไม่ได้นอกจากนี้ยังทำให้ผู้อ่านแลเห็นพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ต่อต้านและขัดแย้งตามมาด้วย
                3. จากการสร้างฉากในวรรณกรรม โดยเฉพาะเมื่อผู้เขียนวาดภาพความเป็นไปในโลกซึ่งมีแต่ความกดดัน จะทำให้ผู้อ่านได้แลเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ของชีวิต ผู้เขียนจะเลือกคัดจัดประเภทของประสบการณ์มาแยกแยะพิจารณาในวรรณกรรมของเขาเพื่อให้ผู้อ่านมีโอกาสนำประสบการณ์ของตนเองมาเทียบเคียงร่วมพิจารณาด้วย
                4. จากรูปแบบและโครงสร้างของวรรณกรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในสากลว่าเป็นศิลปะนั้น ผู้อ่านไม่ว่าจะอ่านวรรณกรรมในรูปนวนิยาย บทละคร หรือบทประพันธ์อื่น ๆ ก็จะพบลักษณะของวรรณกรรมนั้น ๆ ลักษณะเฉพาะเหล่านั้น จะปรุงแต่งความคิดของผู้อ่านและกระตุ้นเตือนให้เกิดความรู้สึกนึกคิดอย่างลึกซึ้ง เป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้อ่านจากวรรณกรรมที่ผู้แต่งสร้างขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ และโครงสร้างต่าง ๆ
                5. จากภาษา สัญลักษณ์ และมโนภาพ ของวรรณกรรมได้สร้างความงามและความน่าเกลียดให้เกิดขึ้นเพื่อเทียบเคียงกัน วรรณกรรมจะกระตุ้นจินตนาการของผู้อ่านให้หวั่นไหวและมีการตอบสนองนักเขียนที่ใช้ภาษาได้กระจ่างชัดจะถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดในส่วนลึกของจิตใจมายังผู้อ่านได้อย่างยอดเยี่ยม ความงดงามของภาษาของกวีหรือนักเขียน จะเขย่าอารมณ์และความคิดของผู้อ่านให้ไหวสะเทือน ความหมายที่ลึกซึ้งของกวี ความผสมกลมกลืนของการใช้สัญลักษณ์และการวาดมโนภาพล้วนแต่มีส่วนช่วยจรรโลงใจผู้อ่านได้เป็นอย่างดี
                6. จากท่วงทำนองเขียนในวรรณกรรม ซึ่งทำให้ผู้อ่านรู้จักลักษณะเฉพาะของกวีหรือนักเขียน แต่ละคนนั้นจะทำให้ผู้อ่านเกิดความสนุกตื่นเต้นไปกับบุคลิกลักษณะของกวีหรือนักเขียนซึ่งไม่ซ้ำแบบกัน
                7. จากความคิดในวรรณกรรม ผู้อ่านจะได้พบกระจกเงาใบมหึมาสะท้อนภาพประสบการณ์ ความฉลาดหลักแหลม และย่อโลกอันกว้างขวางมาวางไว้ตรงหน้า จะชี้ให้ผู้อ่านเห็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ และการพยายามค้นหาวิธีที่ดีที่สุดมาแก้ปัญหาเหล่านั้น

                ได้มีนักเขียนหลายคนที่ได้แสดงความคิดเห็น ทางด้านคุณค่าของวรรณกรรมไว้สอดคล้องกัน เช่น ผาสุก มุทรามธา (2517 : 43) กระแสร์ มาลยาภรณ์ (2522 : 23-27) สิทธา พินิจภูวดล , รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ และเสาวลักษณ์ อนันตศาสนต์ (2524 : 4-5) สนิท ตั้งกวี (2528 : 242 - 244) สุภา ฟักข้อง (2530 : 22) และวันเนาว์ ผูเด็น (2537 : 14) ซึ่งได้กล่าวถึงคุณค่าของวรรณกรรมไว้ดังนี้
                1. คุณค่าทางอารมณ์ หมายถึง แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นจากผู้ประพันธ์แล้วถ่ายโยงมายังผู้อ่าน ซึ่งผู้อ่านจะตีความวรรณกรรมนั้น ๆ ออกมาซึ่งอาจจะตรงหรือคล้ายกับผู้ประพันธ์ก็ได้ เช่น อารมณ์โศก อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ เคียดแค้น เป็นต้น โดยวรรณกรรมจะเป็นเครื่องขัดเกลาอัธยาศัย และกล่อมเกลาอารมณ์ให้หายความหนักแน่น คลายความกังวล และความหมกมุ่น หนุนจิตใจให้เกิดความผ่องแผ้วทำให้รู้สึกชื่นบาน และร่าเริงในชีวิต ทำให้หายจากความมีจิตใจที่คับแคบรู้ค่าความงามของธรรมชาติ ความมีระเบียบเรียบร้อย ความดี ความงาม และความจริงหรือสัจธรรม ที่แฝงอยู่กับความรื่นเริงบันเทิงใจ หรือการได้ร้องให้กับตัวเอกของเรื่องในหนังสือหรือหัวเราะกับคำพูดในหนังสือนั้นมีผลดีทางด้านอารมณ์ ดังที่เจตนา นาควัชระ (2529 : 82) กล่าวว่า เราจะต้องไม่ลืมว่า วรรณกรรมมิใช่การสั่งสอนโดยตรง มิใช่การการโฆษณาชวนเชื่อ การปลุกสำนักเชิงสังคม อาจจะทำได้ดีที่สุดด้วยวิธีการของศิลปะก็ได้ เพราะการเปลี่ยนใจของมนุษย์นั้น คงไม่มีวิธีใดดีกว่าจับใจเขาเสียก่อนด้วยสุนทรียอารมณ์
                2. คุณค่าทางปัญญา วรรณกรรมแทบทุกเรื่องผู้อ่านจะได้รับความคิด ความรู้เพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย มีผลให้สติปัญญาแตกฉานทั้งทางด้านวิทยาการ ความรู้รอบตัว ความรู้เท่าทันคน ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครในเรื่องให้ข้อคิดต่อผู้อ่านขยายทัศนคติให้กว้างขึ้น บางครั้งก็ทำให้ทัศนคติที่เคยผิดพลาดกลับกลายเป็นถูกต้อง เช่น เราเคยมีทัศนคติว่าคนยิวเป็นคนตระหนี่ เห็นแก่ตัว พาให้สังคมรังเกียจ ครั้นได้อ่านเรื่อง The Diary of a Young Girl แต่งโดย แอนน์ แฟร้งค์ (Anne Frank) (แปลเป็นภาษาไทย ชื่อ บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์ โดยสังวรณ์ ไกรฤกษ์) หรือเรื่อง Child of the Holocaust แต่งโดย แจ็ค คูเปอร์ (Jack Kuper) (แปลเป็นภาษาไทย ชื่อ เสือกเกิดเป็นยิว โดยจำเนียร สิทธิดำรงค์) และเรื่อง Mon Ami Frederic แต่งโดย ฮันส์ ปีเตอร์ ไรช์เตอร์ (แปลเป็นภาษาไทยชื่อเฟรดคอริก เพื่อนรัก โดย งามพรรณ เวชชาชีวะ) เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ถ่ายทอดโดยเด็กชาวยิว เมื่ออ่านแล้วเกิดความรู้สึกสงสารคนยิวที่กำลังถูกตามฆ่า ต้องพยายามหาทางเอาชีวิตรอด เกิดความรักและสงสารคนยิวในฐานะเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทัศนคติเดิมที่มีต่อยิวก็เปลี่ยนแปลงไป
หรือผู้อ่านได้อ่านวรรณกรรมเรื่องสามก๊กและราชาธิราช จะให้รู้จักกลยุทรในการสงคราม กลอุบายต่าง ๆ เล่ห์เหลี่ยม นิสัยใจคอของคน และความคิดอันปราดเปรื่องของตัวละครบางตัว พร้อมกันนี้วรรณกรรมแทบทุกเรื่องจะแทรกสัจธรรมที่ผู้อ่านสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทำให้จิตใจสูงขึ้น หรือนำมาใช้ประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เช่น คำโคลงโลกนิติ ของกรมพระยาเดชาดิศร หรือเพลงยาวถวายโอวาท และสัวสดิศึกษา ของสุนทรภู่ เป็นต้น ดังคำกล่าวของเจตนา นาควัชระ (2529 : 88) กล่าวว่า หน้าที่ทางสังคมของวรรณกรรม อาจจะมิใช่การแก้ปัญหาทางสังคมในเชิงปฏิบัติ หรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ในระยะสั้น แต่เป็นหน้าที่ของการให้แสงสว่างทางปัญญา
                3. คุณค่าทางศีลธรรม วรรณกรรมเรื่องหนึ่ง ๆ อาจจะมีคติหรือแง่คิดอย่างหนึ่งแทรกไว้ อาจจะเป็นเนื้อเรื่องหรือเป็นคติคำสอนระหว่างบรรทัด ซึ่งวรรณกรรมแต่ละเรื่องให้แง่คิดไม่เหมือนกัน บางที่ผู้อ่านที่อ่านอย่างผิวเผิน จะตำหนิตัวละครในเรื่องนั้นว่า กระทำผิดศีลธรรมไม่ส่งเสริมให้คนมีศีลธรรม แต่ถ้าพิจารณาและติดตามต่อไปผู้อ่านก็จะพบว่า ใครก็ตามที่ไม่อยู่ในศีลธรรมก็จะต้องประสบความทุกข์ยาก ความล้มเหลว และความเกลียดชังจากสังคม อาจจะเป็นเพราะกรรมของแต่ละคน บางคนประกอบกรรมมา ต่างกรรมต่างวาระแต่อาจจะพบจุดจบในกรรมอันเดียวกันก็ได้ เช่น เรื่องพระลอเป็นวรรณกรรมสะเทือนอารมณ์ ซึ่งได้แทรกข้อคิดเกี่ยวกับความรัก และความรับผิดชอบในหน้าที่ ให้ผู้อ่านได้พิจารณา ถ้าบังเอิญมีเหตุการณ์ในชีวิตเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันทั้งความรัก และความรับผิดชอบจะเลือกทางไหนพระลอได้เลือกความรักและประสบกับความยุ่งยากจนสิ้นชีวิต เป็นตัวอย่างที่ไม่ต้องการให้ใครเอาอย่าง ซึ่งตามหลักการของวรรณกรรมนั้นในเรื่องของศีลธรรม สิ่งที่ผู้อ่านต้องนำมาคิดก็คือ เป็นศีลธรรมของคนกลุ่มใด ของใคร และสมัยใด เพราะศีลธรรมก็ต่างกันตามวาระยุคและสมัยของแต่ละสังคมด้วย เช่นผู้อ่านอาจจะโทษว่า พระลอ พระเพื่อน พระแพง ไม่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ผู้อ่านก็ต้องพิจารณาหลาย ๆ ด้าน ทั้งในเรื่องของสังคม ค่านิยม บุคคล ฐานะ และทางแนวคิดและจุดประสงค์ของผู้แต่ง ว่าเพื่ออะไร
ส่วนวรรณกรรมที่ให้คุณค่าทางศีลธรรมแก่ผู้อ่านที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ วรรณกรรมศาสนา ได้แก่ เรื่องชาดกต่าง ๆ เช่น เวสสันดรชาดก สุวรรณสามชาดก นอกจากนั้นก็มีนิทานนิยายต่าง ๆ เช่น นิทานอีสป นวนิยายที่มุ่งสอนศีลธรรม เช่น กองทัพธรรม ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ เป็นต้น หรือเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ของพระเจ้าลิไท พระปฐมสมโพธิกถา ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นต้น
                4. คุณค่าทางวัฒนธรรม วรรณกรรมทำหน้าที่ผู้สืบต่อวัฒนธรรมของชาติจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เป็นสายใยเชื่อมโยงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ในวรรณกรรมมักจะบ่งบอกคติของคนในชาติไว้ เช่น วรรณกรรมสมัยสุโขทัยจะทำให้เราทราบว่าคติของคนไทยสมัยสุโขทัยนิยมการทำบุญให้ทาน การสาปแช่งคนบาปคนผิด มักจะสาปแช่งมิให้พระสงฆ์รับบิณฑบาตรจากบุคคลผู้นั้น ดังนี้เป็นต้น วรรณกรรมของชาติมักจะเล่าถึงประเพณีนิยม คติชีวิต การใช้ถ้อยคำภาษา การดำรงชีวิตประจำวัน การแก้ปัญหาสังคม อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า เป็นต้น เพื่อให้คนรุ่นหลังมีความรู้เกี่ยวกับคนรุ่นก่อนๆและเข้าใจวิถีชีวิตของคนรุ่นก่อน เข้าใจเหตุผลว่าทำไมคนรุ่นก่อนๆจึงคิดเช่นนั้น ทำเช่นนั้น ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน ดังเช่น วรรณกรรมเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ช่วยให้ผู้อ่านได้ทราบถึงพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ เป็นต้น หรือ เรื่องขุนช้างขุนแผน ทำให้ผู้อ่านเข้าใจประเพณีการเกิด การโกนจุก การบวช การแต่งงาน การเผาศพ เป็นต้น อย่างไรก็ตามคุณค่าทางวัฒนธรรมนี้เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละสังคม ถ้าสามารถสร้างให้เกิดความรู้สึกที่เป็นสากล คือมีอุดมคติเป็นกลาง สามารถเป็นที่ยึดถือของทุกสังคม ก็นับเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ถือเป็นความสามารถอย่างยิ่ง และที่สำคัญวัฒนธรรมอยู่ได้ส่วนหนึ่งก็เพราะมีวรรณกรรมบันทึกไว้เป็นหลักฐาน กล่าวอีกนัยหนึ่ง จะโดยรู้สึกตนหรือไม่ก็ตาม นักประพันธ์ย่อมจะแต่งเรื่องที่กล่าวถึงวัฒนธรรมของตน ( และอาจจะของผู้อื่นด้วย ) และในบางครั้งบางคราว เมื่อแปลหรือเรียบเรียงหรือเอาเค้าเดิมมาจากวรรณกรรมต่างประเทศ ก็จะกล่าวถึงวัฒนธรรมของต่างประเทศเท่าที่ตนรู้และ
เข้าใจด้วย ผู้อ่านก็จะเกิดความรื่นรมย์และชื่นชมหรือแปลกประหลาดไปกับวัฒนธรรมนั้น ๆ ด้วย
                5. คุณค่าทางประวัติศาสตร์ การบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มุ่งจดแต่ข้อเท็จจริงไม่ช้าก็อาจจะเบื่อหน่ายหลงลืมได้ เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาอุปราช ในประวัติศาสตร์อาจจะจดบันทึกไว้เพียงไม่กี่บรรทัด ผู้อ่านก็อาจจะอ่านข้าม ๆไปโดยไม่ทันสังเกตและจดจำ ถ้าได้อ่านลิลิตตะเลงพ่ายจะจำเรื่องยุทธหัตถีได้ดีขึ้นและยังเห็นความสำคัญของเหตุการณ์บ้านเมืองในตอนนั้นอีกด้วย ทั้งนี้เพราะผู้อ่านได้รับรสแห่งความสุขบันเทิงใจในขณะที่อ่านลิลิตตะเลงพ่าย หรือวรรณกรรมประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่นำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาใช้เป็นวัตถุดิบในการแต่งด้วย อย่างไรก็ตามวรรณกรรมดังกล่าวมิใช้เอกสารวิชาการสำหรับอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ ตรงข้ามประวัติศาสตร์ต่างหากที่เป็นเอกสารอ้างอิงของวรรณกรรม ดังนั้น การใช้วรรณกรรมเป็นเอกสารอ้างอิงทางประวัติประวัติศาสตร์จึงอาจาคลาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมถือเป็นกระจกเงาสะท้อนภาพในอดีตของแต่ละชาติได้อย่างดีที่สุด เรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ศึกษาได้จากวรรณกรรมไม่มากก็น้อย เช่น สงครามทาสระหว่างอเมริกาเหนือ และใต้ สามารถอ่านได้จากเรื่อง Gone With the Wind แต่งโดย มากาเร็ท มิทเชล (Margaret Mittchell) ( แปลเป็นภาษาไทย ชื่อวิมานลอย โดย รอย โรจนานนท์ ) หรือ เรื่อง Uncle Tom ' s Cabin แต่งโดย แฮเรียท บีชอร์ สโตร์
( Harriet Beecher Stowe ) (แปลเป็นภาษาไทยชื่อ กระท่อมน้อยของลุงทอม โดย อ. สนิทวงศ์) หรือ การบุกเบิกและสร้างชาติของอเมริกาจากเรื่องหนังสือชุด Little House Series แต่งโดย ลอรา อิงกัลล์ส์ ไวล์เดอร์ (แปลเป็นภาษาไทย เป็นหนังสือชุดบ้านเล็ก โดย สุคนธรส มี 7 เล่ม หรือ 8 ตอน ด้วยกัน คือ บ้านเล็กในป่าใหญ่ และบ้านเล็กในทุ่งกว้าง พิมพ์รวมเป็นเล่มเดียวกัน เด็กชายชาวนา บ้านเล็กริมห้วย ริมทะเลสาบสีเงิน ฤดูหนาวอันแสนนาน เมืองเล็กในทุ่งกว้าง และปีทองอันแสนสุข) หรือ เรื่อง เรื่องสี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว. ศึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ใช้เหตุการณ์ของประเทศไทย ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงมาจนถึงสิ้นแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล พร้อมกันนี้ผู้เขียนยังให้ภาพที่ผู้อ่านเข้าใจถึง เรื่องราวของพระบรมมหาราชวังเริ่มตั้งแต่ประตูชั้นนอก ชั้นกลาง ชั้นใน ตำหนักเจ้านาย ที่อยู่ของข้าหลวง จนกระทั้งถึงพระราชมณเฑียร ชีวิตของชาววังนับตั้งแต่พระบรมวงศ์ถึงคนสามัญ การแต่งกาย ความเป็นอยู่ ธรรมเนียม การศึกษาอบรม ความสนุกสนาน และการละเล่น นอกจากนั้นได้กล่าวถึงชีวิตชนชั้นสูงนอกราชสำนักด้วย คือ พระยา
คุณหลวง และเศรษฐี
                6. คุณค่าทางจิตนาการ เป็นการสร้างความรู้สึกนึกคิดที่ลึกซึ้ง จิตนาการต่างกับอารมณ์ เพราะอารมณ์คือ ความรู้สึก ส่วนจิตนาการ คือ ความคิด เป็นการลับสมอง ทำให้เกิดความคิดริเริ่ม ประดิษฐกรรมใหม่ ขึ้นมาก็ได้ จิตนาการจะทำให้ผู้อ่านเป็นผู้มองเห็นการณ์ไกล จะทำสิ่งใดก็ได้ทำด้วยความรอบคอบ โอกาสจะผิดพลาดมีน้อย นอกจากนั้นจิตนาการเป็นความคิด ฝันไปไกลจากสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนั้น อาจจะเป็นความคิดถึงสิ่งที่ล่วงเลยมานานแล้วในอดีต หรือสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยหวังว่าอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็ได้ เช่น วรรณกรรมพระอภัยมณี สุนทรภู่ผู้แต่งนั้นเป็นกวีที่มีจิตนาการ
กว้างไกลมาก ได้ใฝ่ฝันเห็นภาพการนำฟางมาผูกเป็นเรือสำเภาใช้ในการเดินทางในมหาสมุทรบนยอดคลื่น เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันนี้เรือที่ทำด้วยวัสดุน้ำหนักเบาอย่างฟางได้เกิดมีจริงขึ้นแล้วรวมทั้งเรือเร็วที่แล่นได้บนยอดคลื่นหรือบนผิวน้ำด้วย
                7. คุณค่าทางทักษะเชิงวิจารณ์ การอ่านมากเป็นการเพิ่มพูนความรู้ความคิด และประสบการณ์ให้แก่ชีวิต คนที่มีความรู้แคบมีความคิดตื้น ๆ และประสบการในชีวิตเพียงเล็กน้อย มักจะถูกเรียกว่า คนโง่ ส่วนคนที่มีความรู้มากแต่ไม่รู้จักวิเคราะห์วิจารณ์นั้นอาจจะหลงผิดทำผิดได้ วรรณกรรมเป็นสิ่งยั่วยุให้ผู้อ่านใช้ความคิดนึกตรึกตรองตัดสินสิ่งใดดีหรือไม่ดี เช่น พฤติกรรมของอิเหนาซึ่งเป็นนักรบที่เก่งแต่เจ้าชู้มีมเหสีถึง 10 องค์ นั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี มีเหตุผลอะไรบ้างสนับสนุนความคิด หรือเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งผู้อ่านมีความเชื่อว่าขุนช้างเลวจริงหรือไม่ สมัยนี้อาจต้องถามตัวเองว่าขุนช้างเลวนั้นเลวอย่างไร และอาจเริ่มเห็นใจขุนช้างจนต้องอ่านใหม่อีกครั้ง คือ เริ่มคิดวิจารณ์แล้ว เป็นการฝึกฝนการใช้วิจารณญาณที่ก่อให้เกิดทักษะ หรือความชำนาญในเชิงวิจารณ์ วิจารณญาณเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบันนี้ อย่างน้อยผู้อ่านเมื่ออ่านหนังสือแล้ว อาจจะพูดถึง ตัวละคร ชีวิต พฤติกรรม เหตุการณ์ เป็นต้น ของเรื่องนั้น ๆ ตามความคิดเห็นของตนเอง
                8. คุณค่าทางการใช้ภาษา เพราะการเขียนเป็นการถ่ายทอดความคิด เป็นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร เพื่อรสชาติทางภาษา เพื่อจูงใจเพื่อความติดใจและประทับใจ ทำให้ผู้อ่านสามารถสังเกต จดจำนำไปใช้ก่อให้เกิดการใช้ภาษาที่ดี เพราะการเห็นแบบอย่างทั้งที่ดี และบกพร่องทั้งการใช้คำ การใช้ประโยค การใช้โวหาร เป็นต้น ได้แก่ การใช้โวหารของยาขอบในวรรณกรรมเรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ เช่น"ข้าพเจ้ารักตัวเองยิ่งนัก แต่ข้าพเจ้ารักตะละแม่ยิ่งกว่าตัวเอง แต่ทั้งตัวเองและตะละแม่ ข้าพเจ้าก็หาได้รักเท่าตองอูไม่"
               

                9. คุณค่าที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการสร้างวรรณกรรม และศิลปกรรมด้านต่าง ๆ วรรณกรรมที่ผู้เขียนเผยแพร่ออกไปบ่อยครั้งที่สร้างความประทับใจ และแรงบันดาลใจ ให้เกิดผลงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ทางด้านวรรณกรรม ของอกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น "ราชินีแห่งฆาตกรรม" ได้ผลิตงานประเภทสืบสวนเป็นร้อย ๆ เรื่อง โดยใช้ แอร์คูล์ บัวโรต์ เป็นนักสืบที่มีคนรู้จักกันทั่วโลก และในเรื่องสุดท้ายที่แอร์คูล บัวโรต์ เสียชีวิตในเรื่อง Cirtain ในปี ค.ศ. 1575 หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ ของอเมริกาได้ลงข่าวไว้อาลัยในหน้าหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมี และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีตัวละครในนวนิยายอื่นใดที่ได้รับการเชิดชูเกียรติถึงระดับเช่นนี้ อกาธา คริสตี้ ได้สร้างผลงานต่าง ๆ อันเกิดจากได้รับความประทับใจจากเรื่องนักสืบชุดเชอร์ล็อค โฮล์มส์ (Sherlock Holmes) ซึ่งเป็นผลงานของ เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน คอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) และปัจจุบันเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ก็ยังคงเป็นตัวละครที่มีผู้รู้จักกันทั่วโลก มากกว่าตัวละครใด ๆ เท่าที่เคยเขียนขึ้นมา ทั้งยังเป็นตัวละครที่ถูกนักเขียนคนอื่น ๆ เขียนลอกเลียนแบบมากที่สุดในโลกด้วย หรือภาพวาดของจักรพันธุ์ โปษยกฤต ส่วนมากจะได้แรงบันดาลใจจากวรรณคดีไทย เช่น เรื่องขุนช้าง - ขุนแผน เป็นต้น หรือผลงานเพลงด้านคำร้องของแก้ว อัจฉริยะกุล เช่น พรานล่อเนื้อ
ยูวกระสันต์เมฆ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของศรีปราชญ์ หรือเพลงรักเพียงใจ ของชอุ่ม บัญจพรรด์ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกวีของศรีปราชญ์เช่นกัน
                อุดม หนูทอง (2523 : 57) กล่าวเสริมว่า วรรณกรรม (โดยเฉพาะวรรณคดี) เป็นหนังสือที่ได้ชื่อว่าบรรจุไว้ด้วยถ้อยคำภาษาที่ประณีตที่สุด ตรึงใจและแหลมคมที่สุด อาจใช้ภาษาที่เป็นภาษาชนิดพิเศษ คำพ้นสมัย สร้างศัพท์ใหม่ แผลงคำเอาตามใจชอบของนักประพันธ์หรือกวี ใช้คำศัพท์ท้องถิ่นหรือพื้นเมือง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นการเพิ่มพูนความรู้ทางภาษาให้แก่ผู้อ่านทั้งสิ้น โดยเฉพาะทางด้านคำศัพท์แล้ว นับว่ามีคุณค่าอเนกอนันต์ ตัวอย่างจากเรื่องลิลิตตะเลงพ่าย เพียงเรื่องเดียวหากศึกษาถ้อยคำภาษาโดยละเอียดถ่องแท้ก็ทำให้เกิดความแตกฉานในเรื่องภาษาขึ้นได้มาก ความรู้ทางภาษาที่ได้จากการอ่านวรรณกรรม โดยเฉพาะวรรณคดี จะส่งผลต่อการศึกษาวรรณคดีในระดับที่สูงหรือยากยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทั้งนี้เพราะภาษาในวรรณคดีมีหลายระดับ กาพย์กลอนของสุนทรภู่เป็นระดับหนึ่ง นิราศนรินทร์ระดับหนึ่ง ตะเลงพ่ายระดับหนึ่ง และยวนพ่ายก็เป็นอีกระดับหนึ่ง ความรู้ทางภาษาจากวรรณคดีที่ใช้ภาษาอย่างง่าย ๆ ย่อมเป็นปัจจัยที่สร้างภูมิปัญญาให้อ่านหนังสือที่หนัก ๆ ขึ้นได้เรื่อยไปโดยไม่มีขอบเขต

ส่วน ธวัช บุณโณทก (2527 : 10 - 11) ได้กล่าวถึงคุณค่าของวรรณกรรม โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ ๆ ดังนี้
                1. คุณค่าของวรรณกรรมต่อปัจเจกบุคคล คือวรรณกรรมให้สารประโยชน์ต่อบุคคลอันเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม
                                1.1 ส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกทักษะ
                                                 1.1.1 ส่งเสริมปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน และฝึกทักษะในการอ่าน
                                                 1.1.2 ส่งเสริมในการเรียนรู้ทางด้านภาษา และช่วยให้มีโอกาสฝึกทักษะ
                                                 1.1.3 ส่งเสริมให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
                                1.2 ให้ความบันเทิงใจ
                                                 1.2.1 เพลิดเพลิน สนุกสนานไปตามเนื้อเรื่อง
                                                 1.2.2 สะเทือนใจ สะเทือนอารมณ์ ทั้งอารมณ์รัก โกรธ แค้น สงสาร และสมใจ เป็นต้น
                                                 1.2.3 ฝันไปกับท้องเรื่อง
                                1.3 ประเทืองปัญญา
                                                  1.3.1 ชี้ให้เห็นสภาพของชีวิตมนุษย์ในสังคม
                                                  1.3.2 ให้ประสบการณ์จำลองชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุข ยากแค้น
อับเฉา ถูกกดขี่ จองเวร อาภัพอับโชค เป็นต้น
                                                  1.3.3 ให้มโนทัศน์ (Conception) ต่าง ๆ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคม
                                2. คุณค่าวรรณกรรมต่อการสร้างสรรค์สังคม วรรณกรรมมีส่วนให้ความสำนึกของสังคม หรือมโนทัศน์ร่วมของสังคม โดยวิธีเสนอแนวคิดต่อผู้อ่านโดยส่วนรวม เป็นการปลูกฝังทัศนคติต่อสังคมแก่ผู้อ่าน และมีกลวิธีในการนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นพ้องกับแนวคิดที่ผู้ประพันธ์เสนอมาในรูปวรรณกรรม หรือให้ผู้อ่านเลือกรูปแบบของสังคมตามทัศนะของตนเองรวมมากับการบันเทิงใจในวรรณกรรมด้วย ซึ่งเป็นตัวเร่งเร้า ส่งเสริมให้ผู้อ่านอันเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมยอมรับแนวคิดเหล่านั้น และมีมโนทัศน์ร่วมต่อสังคม คือ
                                                2.1 กฎเกณฑ์ต่อสังคม อันได้แก่ ศีลธรรม กรอบจารีตประเพณี และธรรมนิยมต่าง
                                                2.2 มีความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมนั้น
                                                2.3 มโนทัศน์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม วรรณกรรมได้เสนอแนวคิดร่วมของการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมโดยไม่หยุดนิ่ง เพื่อไปสู่สภาพของสังคมมนุษย์ที่ดีกว่า
                                                2.4 เสนอแนวคิดร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สภาพที่ดีกว่า และชะลอการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่สภาพชีวิตเลวลง หรือชะลอการเปลี่ยนแปลงที่คนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันจะให้เป็นไปแต่ไม่ใช่มโนทัศน์ร่วมของสังคม
                                                2.5 เสนอแนะ เร่งเร้ามโนคติของปัจเจกบุคคลให้พยายามปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงพัฒนาทางด้านสังคมอันไม่เคยหยุดนิ่ง
                ดังนั้นวรรณกรรมจึงเป็นมรดกของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่แสดงเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ และเป็นเครื่องบ่งชี้ความเป็นอารยะชองชนในชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า "วรรณคดีเป็นอารยะธรรมชนิดที่ไม่รู้จักสูญหาย" ดังเช่น วรรณคดีกรีก วรรณคดีโรมัน ปัจจุบันนี้ยังคงมีอยู่ แม้ว่าอาณาจักรเหล่านี้จะพินาศไปแล้วก็ตาม ดังที่ ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ (2503 : 464) กล่าวว่า ชาติใดมีวรรณคดี โบราณวัตถุ โบราณคดีและอักษรศาสตร์เป็นของตัวเอง แสดงให้รู้ว่าชาตินั้นเป็นชาติอารยะไม่ใช่
ชาติใหม่

อิทธิพลและผลกระทบของวรรณกรรมต่อสังคม
                เนื่องจากบทบาทของวรรณกรรมที่ชัดเจนมากที่สุดก็คือผลกระทบทางด้านสังคม มีนักคิดนักเขียนทางด้านวรรณกรรมส่วนใหญ่ได้เน้นผลกระทบทางด้านนี้มาก เพราะถือว่าวรรณกรรมที่ดีจะต้องส่งผลต่อสังคมไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้จึงขอกล่าวถึงเฉพาะผลกระทบหรืออิทธิพลทางด้านสังคม ซึ่งมีผู้แสดงความคิดเห็นไว้หลากหลายดังนี้คือ
                สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้เขียนไว้ในคำนำหนังสือเรื่องนักเขียนหนุ่ม ( อ้างถึงใน Spender 2518 : หน้าคำนำ ) ว่า ความเป็นจริงในวรรณกรรมโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นของต่างชาติหรือของไทยเองก็ตาม ปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ วรรณกรรมเป็นกระจกเงาที่สะท้อนภาพทางสังคมและเป็นดัชนีชี้แนวของกระบวนการทางวัฒนธรรม ตลอดจนเสนอให้เห็นการยึดถือคุณค่าต่างๆของคนในสังคมแต่ละยุคสมัย ความเป็นไปทางการเมือง ความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เราได้จากคนอ่านและคนเขียน และถ้าหากจะมีความจริงที่นอกเหนือไปจากนี้อีกประการหนึ่งก็ คือ วรรณกรรมเป็นสัญลักษณ์ที่บอกให้เราเห็นความจริงจังของคนในชาติ หรือความฟุ้งเฟ้อของกลุ่มคนในสังคม ซึ่งทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ว่ากลุ่มสังคมใดจะใช้กระจกเงาบานไหนออกมาฉาย ดังนั้นท่าทีและแนวโน้มของวรรณกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นของไทยหรือต่างชาติ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนย่อมมีอิทธิพลเกี่ยวข้องกัน และย่อมขึ้นอยู่ว่าบรรดาผู้มีส่วนสร้างสรรค์ผลงานทางวรรณกรรมทั้งหลาย ( ณ ที่นี้หมายถึงงานเขียนทั่วไปทั้ง ร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยเน้นเฉพาะ นวนิยาย เรื่องสั้น กวีนิพนธ์ และบทละคร ) จะพยายามเพียงใดที่จะยกวรรณกรรมขึ้นไว้เป็นสื่อของการรับใช้สังคม หรือเหยียบย่ำสังคมให้ต่ำทรามลง
                เจตนา นาควัชระ ( 2521 : 13 - 17 ) ได้เสนอว่า วรรณกรรมเป็นสิ่งผูกพันกับสังคม และเป็นสมบัติร่วมของทุกยุคทุกสมัยทุกถิ่น การศึกษาวรรณกรรมจึงต้องควบคู่กับสังคม ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของวรรณกรรม ผู้ประพันธ์ได้แสดงความคิด ปรัชญา ตลอดจนความจริงในสังคมด้วยความสนใจและความรับผิดชอบ วรรณกรรมจึงมีอิทธิพลต่อสังคม รวมทั้งพลังในสังคมมนุษย์ด้วย
                เสนีย์ เสาวพงศ์ ( อ้างถึงใน รุ่งวิทย์ สุวรรณอภิชน ม.ป.ป. : 15 - 16 ) ได้เสนอข้อคิดเกี่ยวกับวรรณกรรมกับสังคมว่า เบื้องหลังปากกาที่สร้างงานเขียนหรือวรรณกรรม ก็คือผู้เขียนหรือนักประพันธ์ และเบื้องหลังนักประพันธ์ก็คือสังคม นั่นก็คือความเป็นจริงของวรรณกรรมทุกเล่มที่มีทัศนะของผู้เขียนสอดแทรกในงานของเขา พร้อมๆกับการถ่ายทอดประสบการณ์ของชีวิตของสังคมในงานเขียนของเขาแต่ละชิ้น ภาพของสังคมปรากฏในวรรณกรรมชิ้นนั้นๆ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เป็นการมองภาพชีวิตในแต่ละบรรทัดของวรรณกรรมเล่มนั้นๆ (between the lines ) ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของพระมหากุเทพ ใสกระจ่าง ( 2521 : 1 , 13 ) ที่กล่าวว่า วรรณกรรมเป็นผลผลิตทางปัญญา ที่เน้นคุณค่าของชีวิตที่ดีงาม วรรณกรรมของคนกลุ่มใดย่อมสะท้อนชีวิตและแนวความคิดของคนกลุ่มนั้น ดังคำกล่าวที่ว่า เบื้องหลังวรรณกรรมทุกเล่มคือมนุษย์ เบื้องหลังมนุษย์คือเผ่าพันธุ์ และเบื้องหลังเผ่าพันธุ์คือสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติและสังคมซึ่งมีอิทธิพลต่อวรรณกรรม ดังนั้นการศึกษาวรรณกรรมจึงมิใช่แต่เพียงการอ่านตำราอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นการศึกษาภาวการณ์ทางสังคมด้วย หรือแม้แต่ความคิดเห็นของ

พลศักดิ์ จิรไกรศิริ ( 2521 : 105 ) กล่าวว่าวรรณกรรมเป็นผลงานการสร้างสรรค์ทางความคิดของมนุษย์ในยุคหนึ่งยุคใด และความคิดของมนุษย์นั้นก็ถูกกำหนดโดยสภาพทางวัตถุในขณะนั้น สภาพทางวัตถุในที่นี้ก็คือระบบสังคมของมนุษย์นั่นเอง ทีปกร( 2521 : 35 ) กล่าวสนับสนุนว่าแหล่งกำเนิดอันแท้จริงของวัตถุดิบที่มนุษย์นำมาสร้างเป็นงานวรรณกรรมนั้น มาจากความจัดเจนในการต่อสู้ของมนุษย์ทั้งในทางตรงและทางอ้อม วรรณกรรมจึงไม่เพียงแต่เป็นผลิตผลที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนถ่ายความจัดเจนที่ได้รับจากการต่อสู้ของชีวิตทั้งในทางธรรมชาติและทางสังคม หากยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ของกลุ่มความคิดที่ตนสังกัดอยู่ด้วย
                สิทธา พินิจภูวดล และนิตยา กาญจนะวรรณ ( 2520 : 48 -49 ) กล่าวเสริมว่า วรรณกรรมเป็นผลงานของมนุษย์ ดังนั้นจึงเป็นที่เก็บรวบรวมความคิด ความเป็นอยู่ และลักษณะสภาพต่างๆของมนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไว้ด้วยกัน วรรณกรรมจึงกลายเป็นหนังสือที่สามารถสะท้อนสภาพสังคมได้ สังคมของผู้แต่งหนังสือมีธรรมชาติเช่นไรวรรณกรรมก็มีธรรมชาติเช่นนั้น สังคมนั้นเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการไปตามเหตุการณ์อย่างไร วรรณกรรมก็กล่าวถึงเหตุการณ์อย่างนั้น เช่น เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ มีผลทำให้มนุษย์ในแต่ละสังคมประพฤติปฏิบัติตนต่างๆกัน หรือบางครั้งก็ออกมาในรูปเดียวกัน บางครั้งก็ขัดแย้งกัน บางครั้งก็กลมกลืนกัน ผู้แต่งหนังสือที่ช่างสังเกตก็จะเลือกหาเหตุการณ์เรื่องราวจากความเป็นไปในสังคมมาผูกเป็นเรื่องขึ้น โดยตั้งจุดประสงค์ไว้ต่างๆกัน บางคนผูกเรื่องขึ้นเพื่อรายงานเหตุการณ์แต่เพียงอย่างเดียว บางคนก็ชี้ให้เห็นลักษณะที่ขัดแย้งต่างๆเพื่อเตือนสติคนในสังคม
                สำหรับ ตรีศิลป์ บุญขจร ( 2523 : 6 - 10 ) กล่าวว่า วรรณกรรมย่อมสัมพันธ์กับสังคม วรรณกรรม สะท้อนประสบการณ์ชีวิตในยุคสมัยไม่ว่าจะจงใจสะท้อนสังคมหรือไม่ก็ตาม นักวิจารณ์บางคนจึงกล่าวว่า วรรณกรรมเป็นคันฉ่องแห่งยุคสมัย เนื่องจากเป็นภาพถ่ายชีวิตของยุคสมัยนั่นเอง ความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับสังคมมี 3 ลักษณะดังนี้คือ
                1. วรรณกรรมเป็นภาพสะท้อนของสังคม ซึ่งการสะท้อนสังคมของวรรณกรรมมิใช่เป็นการสะท้อนอย่างบันทึกเหตุการณ์ทำนองเอกสารประวัติศาสตร์ แต่เป็นภาพสะท้อนประสบการณ์ของ
ผู้เขียนและเหตุการณ์หนึ่งของสังคม วรรณกรรมจึงมีความเป็นจริงทางสังคมสอดแทรกอยู่ นักเขียนบางคนมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นอย่างมาก เขาจะสะท้อนความปราถนาที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น วรรณกรรมของเขาฉายให้เห็นสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์ ซึ่งอาจจะเป็นอุดมการณ์ทางสังคมหรืออุดมการณ์ทางการเมืองก็ได้
                2. สังคมมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมหรือต่อนักเขียน ซึ่งนักเขียนอยู่ในสังคมย่อมได้รับอิทธิพลจากสังคมทั้งด้านวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ปรัชญาและการเมือง สภาพการณ์ของปัจจัยเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งกำหนดโลกทัศน์และชีวทัศน์ของเขา การพิจารณาอิทธิพลของสังคมต่อนักเขียน ควรให้ความสนใจว่านักเขียนได้รับอิทธิพลจากสังคมมาอย่างไร และเขามีท่าทีสนองตอบต่ออิทธิพลเหล่านั้นอย่างไร
                3. วรรณกรรมหรือนักเขียนมีอิทธิพลต่อสังคม นักเขียนที่ยิ่งใหญ่นอกจากมีความสามารถในการสร้างสรรค์วรรณกรรมให้มีชีวิต โน้มน้าวจิตใจผู้อ่านแล้ว ยังเป็นผู้มีทัศนะกว้างไกลกว่าคนธรรมดา สามารถเข้าใจโลกและมองสภาพความเป็นจริงได้ลึกกว่าคนทั่วไปมองเห็น ด้วยทัศนะที่กว้างไกลและลุ่มลึก ภาพที่เขาให้จึงเป็นจริงยิ่งกว่าความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่จึงเป็นอมตะ เพราะไม่เพียงแต่จะเสนอภาพปัจจุบันอย่างถึงแก่นของความเป็นจริงเท่านั้น แต่ยังคาดคะเนความเป็นไปในอนาคตได้อีกด้วย


อ้างอิงจาก




 คำถาม
1.ในสมัยรัฐบาลใดที่มีการจัดตั้งสำนักงานวัฒนธรรมทางวรรณกรรม?
                ก. หม่อมราชวงศ์เสนีย์  ปราโมช
                ข. ปรีดี  พนมยงค์
                ค. พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
                ง. จอมพล ป.พิบูลสงคราม
             
2.ประเภทของวรรณกรรม แบ่งตามลักษณะประพันธ์ มีกี่ประเภท?
                ก. 2 ประเภท
                ข. 3 ประเภท
                ค. 4 ประเภท
                ง. 5 ประเภท
               
3. คำว่า "วรรณกรรม" มาจากการสร้างศัพท์ใหม่ แทนคำว่า "Literature" โดยวิธีสมาสหรือรวมคำ จากคำใดต่อไปนี้?
                ก. วรรณ กับ กรรม
                ข. วรรณ กับ บรรณ
                ค. กรรม กับ บรรณ
                ง. ไม่มีข้อถูก

4. ข้อใดไม่ใช่คุณค่าของวรรณกรรมต่อปัจเจกบุคคล?
                ก. ส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกทักษะ
                ข. ให้ความบันเทิงใจ
                ค. กฎเกณฑ์ต่อสังคม
                ง. ประเทืองปัญญา
               
5. ข้อใดผิดเกี่ยวกับการแบ่งวรรณคดีตามลักษณะของเนื้อหา ซึ่งจะเน้นไปทางด้านวรรณคดีไทยเป็นส่วนใหญ่?
                ก. วรรณคดีนิราศ กับ วรรณคดีเฉลิมพระเกียรติ         
                ข. วรรณคดีศาสนา กับ วรรณคดีประวัติศาสตร์
                ค. วรรณคดีสุภาษิต กับ วรรณคดีที่เกี่ยวกับพิธีการขนบธรรมเนียมประเพณี
                ง. วรรณคดีการละครหรือนาฏวรรณคดี กับ วรรณคดีนิยาย
               


1 ความคิดเห็น: